สาละอินเดีย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea robusta Roxb.
วงศ์ Dipterocarpaceae
พระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์แก่ได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อกลับไปประสูติในตระกูลเดิมของพระองค์ที่กรุงเทวทหะ ตามความเชื่อดั้งเดิมในสมัยโบราณเมื่อเสด็จถึงลุมพินีสถาน ซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะพระนางก็ประสูติพระราชกุมาร ทั้งที่ประทับในพระอิริยาบถยืนเหนี่ยวกิ่งต้นสาละ ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วิสาขบูชา
พุทธพฤกษ์

สาละอินเดีย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea robusta Roxb.
วงศ์ Dipterocarpaceae
พระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์แก่ได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อกลับไปประสูติในตระกูลเดิมของพระองค์ที่กรุงเทวทหะ ตามความเชื่อดั้งเดิมในสมัยโบราณเมื่อเสด็จถึงลุมพินีสถาน ซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะพระนางก็ประสูติพระราชกุมาร ทั้งที่ประทับในพระอิริยาบถยืนเหนี่ยวกิ่งต้นสาละ ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วิสาขบูชา

หว้า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium cumini (L.) Skeels.
วงศ์ Myrtaceae
พระเจ้าสุทโธทนะได้เสด็จไปประกอบพิธีแรกนาขวัญ พร้อมด้วยพระสิทธัตถะกุมาร ในระหว่างพิธีพระสิทธัตถะกุมารได้เสด็จไปประทับใต้ต้นชมพูพฤกษ์ หรือต้นหว้าใหญ่แล้วนั่งสำรวมจิตเป็นสมาธิด้วยอานาปานสติกัมมัฏฐาน ถึงขั้นที่เรียกว่า “ปฐมฌาน” ในเวลานั้นเป็นเวลาบ่ายคล้อยเงาต้นไม้ทั้งหลายย่อมคล้อยไปตามแสงทั้งสิ้นแต่เงาต้นหว้ายังคงดำรงเป็นร่มเงาให้พระสิทธัตถะกุมารอย่างน่าอัศจรรย์

มะม่วง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mangifera indica L.
วงศ์ Anacardiaceae
เจ้าชายสิทธัตถะทรงเสวยสุขอยู่ในขัตติยราช จนพระชนมายุได้ 29 พรรษา ทรงตระหนักว่าการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไม่ใช่ความสุขอันแท้จริงจึงตั้งพระทัยเสด็จออกบรรพชาเพื่อแสวงหาธรรมวิเศษที่จะสามารถช่วยเหลือปวงเหล่ามนุษยชาติให้พ้นทุกข์ ได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ เสวยบรรพชาสุขอยู่ ณ ป่า ไม้มะม่วง มีนามว่า อนุปิยอัมพวันได้บำเพ็ญสมาธิเว้นเสวยพระกระยาหารถึง 7 วัน ครั้นวันที่ 8 จึงเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ โดยกิริยา งบอยู่ในอาการสังวร สมควรแก่ภาวะของสมณะ เป็นที่เลื่อมใสของทุกคนที่ได้พบเห็น

นิโครธ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus benghalensis Linn.
วงศ์ Moraceae
ในพุทธประวัติได้กล่าวถึงต้นนิโครธ หรือต้นไทรที่เรียกในพระธรรมสูตรว่า นิโครธพฤกษ์อันเป็นสถานที่ซึ่งนางสุชาดาได้ถวายข้าวมธุปายาสแก่พระสิทธัตถะเมื่อครั้งประทับอยู่โคนใต้ต้นไม้นี้ ด้วยเข้าใจว่าเป็นรุกขเทวาอาหารมื้อนี้ถือเป็นมื้อสุดท้ายก่อนที่พระมหาบุรุษจะเสด็จไปประทับใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกตอนหนึ่งในพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณต้นพระศรีมหาโพธิ์ หลังจากตรัสรู้แล้ว 7 วันก็เสด็จสู่ต้นไทรซึ่งเป็นที่พักของคนเลี้ยงแกะ ชื่อว่า อชปาลนิโครธตั้งอยู่ในทิศบูรพา เพื่อทรงเสวยวิมุตติสุขทบทวนพระธรรมวิเศษที่ได้จากการตรัสรู้

หญ้าแพรก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cynodon dactylon (L.) Pers.
วงศ์ Poaceae
พระมหาบุรุษเมื่อทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยาแล้ว ก็เสวยพระกระยาหาร บำรุงร่างกายให้เป็นปกติดังเดิม แล้วทรงเริ่มทำความเพียรทางจิตต่อไป จนถึงคืนวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ขณะบรรทม ทรงพระสุบิน ประการและประการหนึ่งทรงพระสุบินว่ามีหญ้าแพรก (ติริยา) เส้นหนึ่งงอกจากพระนาภี สูงขึ้นไปจนถึงท้องฟ้าในพระสุบินทั้ง 5 ข้อนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับหญ้าแพรกมีอรรถาธิบายว่า พระพุทธองค์จะได้ประกาศ สัจธรรม เผยแผ่มรรคผล นิพพาน แก่เหล่าเทพยดาและมวลหมู่มนุษย์ทั้งปวง

หญ้าแฝกหอม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chrysopogon zizanioides (L.) Roberty
วงศ์ Poaceae
ชาวพื้นบ้านของอินเดียรู้จักหญ้าแฝก หรือแฝกหอม และนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ กันมาแต่โบราณ จึงอาจเป็นหญ้ากุศะ 8 กำ ที่โสตถิยะพราหมณ์ได้นำมาถวายเจ้าชายสิทธัตถะ และพระองค์ทรงนำไปปูรองนั่งใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นรัตนบัลลังก์
ในพระคัมภีร์อาถรรพเวทย์ ซึ่งเป็นคัมภีร์โบราณของศาสนาฮินดู ได้กล่าวถึงหญ้าที่ใช้ในกรรมพิธีทางศาสนาว่าเป็นชนิดที่มีรากยาวกว่าหญ้าชนิดอื่น และสามารถยาวได้ถึงประมาณ 150 เซนติเมตร ซึ่งปกติจะมีเพียงหญ้าแฝกหอมเท่านั้นที่มีรากยาวได้ถึงระดับนี้ และอรรถกถาจารย์บางท่านก็ได้บันทึกไว้ว่า หญ้ากุศะเป็นหญ้าที่มีรากหอม ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าจะเป็นไปได้ขึ้นอีก เพราะในพืชสกุลหญ้าทั้งหมดมีเพียงหญ้าแฝกชนิดเดียวเท่านั้นที่มีทั้งรากยาวและความหอม

หญ้าคา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : lmperata cylindrica (L.) P.Beauv.
วงศ์ Poaceae
หญ้าคาเป็นพืชที่มีการกระจายพันธุ์กว้างขวางไปทั่วทุกประเทศเขตร้อน รวมทั้งในประเทศอินเดีย จึงเป็นที่รู้จักกันโดยกว้างขวางและมีชื่อเรียกพื้นบ้านมากมายหลายชื่อ ที่สำคัญคือพจนานุกรมสันสกฤตเรียกหญ้าคาว่า กุศะ (Kusa Grass) จึงอาจเป็นหญ้ากุศะ 8 กำ ที่โสตถิยะพราหมณ์น้อมถวายแด่เจ้าชายสิทธัตถะ และพระองค์ทรงนำไปปูรองเป็นรัตนบัลลังก์ อันเป็นอาสนะที่พระองค์ประทับนั่งตรัสรู้ในเวลาต่อมานั้นเอง

หญ้ากุศะ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Desmostachya bipinnata (L.) Stapf
วงศ์ Poaceae
หญ้ากุศะเป็นหญ้าศักดิ์สิทธิ์ของทั้งศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู และศาสนาพุทธ ในพระไตรปิฎก มีความสำคัญตอนหนึ่งเกี่ยวกับหญ้ากุศะว่า ระหว่างเสด็จไปสู่ควงไม้อัสสัตถโพธิพฤกษ์ ได้พบโสตถิยะพราหมณ์ ซึ่งได้หอบหญ้ากุศะมา 8 กำ โสตถิยะพราหมณ์เห็นพระมหาบุรุษมีความสำรวมงดงาม คิดว่าเป็นรุกขเทวาก็บังเกิดความเลื่อมใส ขอน้อมถวายหญ้าทั้ง 8 กำนั้นแด่พระองค์
พระมหาบุรุษรับหญ้ากุศะนั้นแล้วก็เสด็จไปยังร่มไม้อัสสัตถโพธิพฤกษ์ ผินพระพักตร์ไปทางแม่น้ำเนรัญชรา ปูหญ้ากุศะเป็นอาสนะ เรียกว่า “รัตนบัลลังก์” แล้วทำความเพียรโดยสมาธิจิต ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันเพ็ญเต็มดวง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วิสาขปุระณมีบูชา

ข้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oryza sativa Linn.
วงศ์ Poaceae
เมื่อคราพระมหาบุรุษประทับใต้ต้นนิโครธ เมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 นางสุชาดา ธิดาของคฤหบดีผู้มั่งคั่งในหมู่บ้านเสนานิคม ได้หุง “ข้าวมธุปายาส” เพื่อถวายเทพารักษ์ตามที่ได้บนบานไว้ และได้น้อมถวายข้าวมธุปายาสแด่พระมหาบุรุษที่งามผ่องผุดด้วยรัศมีธรรมบำเพ็ญ ด้วยสำคัญว่าเป็นรุกขเทวา
อีกตอนหนึ่งของพุทธประวัติ เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขแล้ว มีพาณิชสองพี่น้องชาวรามัญชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ นำกองเกวียนบรรทุกสินค้าผ่านมา เทพยดาได้แนะนำให้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า สองพาณิชมีความดีใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยศรัทธาเลื่อมใส พร้อมด้วยนำข้าวสัตตูก้อนและสัตตูผงเข้าไปถวายด้วย เนื่องด้วยขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก อุบาสกทั้งสองจึงเป็นปฐมอุบาสกที่ถึงพร้อมด้วยพระพุทธและพระธรรม ได้นามว่า “เทววาจิกอุบาสก” นับเป็นอุบาสกคู่แรกและคู่เดียวในโลก

จิกน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barringtonia acutangula Gaertn.
วงศ์ Lecythidaceae
ในช่วงที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุข ได้ประทับอยู่ ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และต้นอชปาลนิโครธ แห่งละ 7 วัน แล้วเสด็จไปประทับใต้ต้นจิก ณ ที่นี้ได้เกิดพายุฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ลมแรง และอากาศหนาวเย็น พญานาคชื่อมุจลินท์ ซึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธองค์ ได้มาขนดกายเป็นวง 7 รอบล้อมพระองค์ พร้อมกับแผ่พังพานปกป้องพระองค์ไว้
ต้นจิกจึงมีอีกชื่อหนึ่งตามชื่อของพญานาคคือ “มุจลินท์” ต่อมาเมื่อมีผู้สร้างพระพุทธรูปขึ้นในภายหลัง จึงได้ประดิษฐ์พระพุทธรูปปางนี้ขึ้นเรียกว่า “ปางนาคปรก” ถือเป็นพระประจำวันผู้ที่เกิดวันเสาร์

เกด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Manilkara hexandra (Roxb.) Dubard
วงศ์ Sapotaceae
พุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับบำเพ็ญสมาธิใต้ต้นมุจลินท์ หรือต้นจิก เป็นเวลาครบ 7 วันแล้ว ได้เสด็จออกจากร่มไม้มุจลินท์ไปประทับยังร่มไม้เกด อันมีนามว่า "ราชายตนะ" อยู่ในทิศทักษิณแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ ประทับ ณ ที่นั้นทั้งสิ้นอีก 7 วัน เป็นอันสิ้นสุดเสวยวิมุติสุข หรือเวลาแห่งการพิจารณาและทบทวนถึงพระธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้มาทั้งหมด

สมอ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia chebula Retz.
วงศ์ Combretaceae
ในช่วงพระศาสดาเสวยวิมุตติสุข เมื่อเสด็จออกจากร่มไม้มุจลินท์จะไปยังร่มไม้เกด เพื่อเสวยวิมุติสุข ณ ที่นั้นอีก 7 วัน ในกาลนั้น ท้าวสักกะอมรินทราธิราชมีพระดำริว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้เสวยพระกระยาหารนับแต่กาลตรัสรู้มาได้ 49 วันแล้ว จึงได้เสด็จลงมาจากเทวโลก น้อมถวายผลสมอ อันเป็นทิพยโอสถ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับผลสมอมาเสวย แล้วจึงเสด็จเข้าประทับยังร่มไม้เกด

ไผ่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bambusa bambos (L.) Voss
วงศ์ Poaceae
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระศาสดาก็บรรลุโสดาปัตติผล เกิดศรัทธาเลื่อมใสประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภก และได้หลั่งน้ำทักษิโณทกถวายราชอุทยานเวฬุวัน อันอุดมไปด้วยต้นไผ่ ให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ด้วยทรงเห็นว่าเป็นสถานที่สงบร่มรื่น เหมาะสำหรับบำเพ็ญธรรม วัดเวฬุวันวนารามจึงเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
สถานที่แห่งนี้ยังเป็นที่พระอรหันต์จำนวน 1,250 รูปมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยมิได้นัดหมาย เมื่อวันเพ็ญเดือน 3 พระพุทธองค์ได้ถือเอาวันนี้เป็นวันแสดงหลักธรรม 3 ประการ อันเรียกว่า “โอวาทปาฏิโมกข์” ซึ่งถือเป็นที่มาของวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่งคือ วันมาฆบูชา

กุ่ม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crateva religiosa G.Frost.f.
วงศ์ Capparidaceae
ในสมัยพุทธกาล จีวรที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ครองร่างนั้นได้มาจากเศษผ้าที่ชาวบ้านทิ้งแล้ว เช่น ผ้าห่อศพ นำมาซักล้างให้สะอาด เย็บเป็นผืน ย้อมฝาด และให้มีใช้สอยได้เพียง 3 ผืนเท่านั้น ไม่รับผ้าจีวรที่คฤหัสถ์ทำถวาย ไม่มีการรบกวนผู้ใด
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้นำผ้าบังสุกุลจากป่าช้า ซึ่งเป็นผ้าที่ใช้ห่อศพนางมณพาสีไปทรงซักทำความสะอาด เมื่อเสร็จแล้วทรงมีพระดำริว่า “เราจะพาดผ้าบังสุกุลไว้ ณ ที่ใดหนอ” ครานั้น พฤกษเทวาซึ่งสิงสถิตที่ต้นกุ่ม ทราบพระดำริ ด้วยจิตศรัทธาจึงได้น้อมกิ่งต้นกุ่มลงเพื่อให้พุทธองค์ได้ตากผ้าบังสุกุล

พระศรีมหาโพธิ์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus religiosa Linn.
วงศ์ Moraceae
นับตั้งแต่บรรพชาได้ 6 พรรษา พระมหาบุรุษได้ศึกษาและทดลองทุกวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งธรรมวิเศษ ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ทรมานพระวรกายให้ลำบากด้วยวิธีต่างๆ ภายหลังเมื่อมีพระดำริว่าการบำเพ็ญทุกรกิริยาไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ จึงได้ทรงเลิกแล้วกลับมาเสวยพระกระยาหารดังเดิม
ฝ่ายพราหมณ์ทั้ง 5 ที่มาปรนนิบัติ เมื่อเห็นพระมหาบุรุษล้มเลิกความเพียรก็เกิดความเสื่อมศรัทธา จึงหลีกหนี เมื่อพระมหาบุรุษทรงหันกลับมาเสวยพระกระยาหาร อีกทั้งมีความสงัดปราศจากสิ่งรบกวน ก็ทรงเริ่มบำเพ็ญความเพียรทางจิต และได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ที่ใต้ร่ม อัสสัตถพฤกษ์ หรือต้นพระศรีมหาโพธิ์

ตาล
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Borassus flabellifer Linn.
วงศ์ Arecaceae
หลังจากพระพุทธองค์สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ในพรรษาที่ 2 ระหว่างทางเสด็จก่อนเข้ากรุงราชคฤห์เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ทรงแวะประทับที่สวนตาลพร้อมด้วยพระอริยสงฆ์สาวก ครั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ จึงเสด็จพร้อมด้วยข้าราชบริพารไปเข้าเฝ้า
ครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อกษัตริย์แห่งกรุงราชคฤห์ทรงสดับพระธรรมเทศนาแล้ว ก็ทรงประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภก และหลั่งน้ำทักษิโณทกถวายราชอุทยานเวฬุวัน ให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้า

ฝ้าย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gossypium arboreum L.
วงศ์ Malvaceae
เมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้วได้แสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท จนมีพระสาวกอรหันต์ 60 รูป ก็มีพระบัญชาให้พระสาวกเหล่านั้นออกไปประกาศศาสนาโปรดสรรพสัตว์ให้ทั่วถึง ส่วนพระพุทธองค์เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ระหว่างทางทรงปลีกวิเวกจากเส้นทางหลัก ประทับอยู่ในไร่ใต้ร่มฝ้ายต้นหนึ่ง

มะขามป้อม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus emblica Linn.
วงศ์ Euphorbiaceae
พุทธประวัติกล่าวไว้ว่า ในคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปเก็บผลมะม่วงและผลหว้าที่ป่าหิมพานต์ พระองค์ทรงเก็บผลมะขามป้อมมาด้วย
ในอินเดียมะขามป้อมมีวางขายตามท้องตลาดทั่วไป ผลมีขนาดใหญ่กว่ามะขามป้อมของไทย บางลูกมีขนาดเท่าผลมะนาวย่อมๆ มีราคาไม่แพง และเป็นทั้งผลไม้และยาสมุนไพร จึงเป็นที่นิยมบริโภคของชาวอินเดียมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงสมัยปัจจุบัน

ส้ม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus spp.
วงศ์ Rutaceae
พระพุทธประวัติกล่าวเกี่ยวกับส้มไว้ว่า เมื่อคราวพระพุทธองค์เสด็จไปเก็บพืชพรรณที่ป่าหิมพานต์เพื่อแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ชฎิลดาบส 3 พี่น้องเห็น เพื่อเป็นการปราบพยศ ทรงเก็บผลส้มมาพร้อมผลไม้อื่นๆ ด้วย

ประดู่ลาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dalbergia sissoo Roxb.
วงศ์ Papilionaceae
ในพรรษาที่ 5 หลังจากทรงตรัสรู้ พระบรมศาสดาได้เสด็จไปเยี่ยมพระบิดา คือพระเจ้าสุทโธทนะ ที่กรุงบิลพัสดุ์ และได้แสดงพระธรรมเทศนาโปรดทั้งพระบิดาและพระประยูรญาติ พระบิดาได้บรรลุเป็นพระอรหันต์และต่อมาเสด็จสู่ปรินิพพาน พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 รูป ได้จัดถวายพระเพลิงพระศพ จากนั้นเสด็จพร้อมด้วยสาวกกลับกรุงราชคฤห์ ระหว่างทางได้ประทับ ณ ป่าสีสปาวัน หรือป่าต้นประดู่ลาย
อีกตอนหนึ่งในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 20 พระนามว่า พระติสสพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ครึ่งเดือนเต็ม จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ใต้ต้นประดู่ลาย

ปาริฉัตร

มะตูม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aegle marmelos (L.) Correa ex Roxb.
วงศ์ Rutaceae
เมื่อคราพระพุทธองค์ได้เสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระบิดาและพระประยูรญาติ ทรงประทับ ณ นิโครธาราม ที่นอกเมือง
เช้าวันหนึ่งได้เสด็จเข้าไปสู่พระนครเพื่อบิณฑบาตตามกิจของสงฆ์ ระหว่างทางกลับ พระพุทธองค์เสด็จไปยังป่ามหาวันและประทับใต้ต้นมะตูม เพื่อทรงพักผ่อน

สีเสียด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acacia catechu (Linn.f.) Willd.
วงศ์ Mimosaceae
สีเสียด หรือสีเสียดแก่น พระพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ 8 พรรษา ได้เสด็จไปประทับ ณ ภูสกภวัน คือป่าสีเสียด ใกล้สุงสุมารคีรี แคว้นภัคคะ

จันทน์แดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterocarpus santalinus Linn.f.
วงศ์ Papilionaceae
เศรษฐีในกรุงราชคฤห์ท่านหนึ่งต้องการพิสูจน์อิทธิฤทธิ์ของพระอรหันต์ จึงนำไม้จันทร์แดงมากลึงเป็นบาตรแล้วแขวนบนเสาสูงถึง 15 วา ประกาศว่า หากมีพระอรหันต์นำบาตรลงมาได้จะยอมเป็นพุทธบริษัทตลอดชีวิต พระสาวกองค์หนึ่งจึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เหาะขึ้นไปนำบาตรลงมา พระศาสดาทรงทราบและทรงตำหนิว่าเป็นการไม่สมควร จึงโปรดให้ทำลายบาตรนั้นเสีย แล้วทรงบัญญัติห้ามพระสาวกทำปาฏิหาริย์สืบไป

สะเดา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Azadirachta indica A.Juss.
วงศ์ Meliaceae
ในพรรษาที่ 12 พระผู้มีพระภาคเจ้าได้จำพรรษาอยู่ ณ บริเวณต้นสะเดา ในเขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยพระสาวก 500 รูป
นอกจากนี้ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 14 พระนามว่า พระสุเมธพุทธเจ้า ผู้ทรงแสวงหาประโยชน์เพื่อสรรพสัตว์ ได้ประทับตรัสรู้ใต้ต้นสะเดา หลังทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม

ตะเคียนทอง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hopea odorata Roxb.
วงศ์ Dipterocarpaceae
พุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์จะทำยมกปาฏิหาริย์ ณ เมืองสาวัตถี ฝ่ายเดียรถีย์ก็จะแสดงปาฏิหาริย์แข่งบ้าง จึงมีการสร้างมณฑลขึ้นโดยมีเสาทำด้วยไม้ตะเคียนทอง หลังคาทำด้วยดอกนิลอุบล
อีกตอนหนึ่งกล่าวว่า พวกสิริคุตถ์ ศิษย์ของพระศาสดา ได้หลอกให้พวกนิครนถ์ซึ่งเป็นอาจารย์ของพวกครหพินน์ตกลงไปในหลุมอุจจาระ ทำให้ได้รับความอับอาย ครหพินน์จึงคิดที่จะแก้แค้นสิริคุตถ์ โดยมุ่งไปที่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพวกสิริคุตต์ ด้วยการทำหลุมไฟซึ่งใช้ไม้ตะเคียนเป็นเชื้อเพลิง และทำกระดานกลปิดไว้ที่ปากหลุม แต่พอพระพุทธองค์จะตกลงไปในหลุม กลับเกิดปาฏิหาริย์มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับก้าวพระบาทไว้ เปลวเพลิงจึงมิอาจทำอันตรายใดๆ แก่พระพุทธองค์ได้

จันทน์หอม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Santalum album L.
วงศ์ Santalaceae
เมื่อพระพุทธองค์กำหนดพระทัยปลงอายุสังขาร แล้วเสด็จไปยังนครกุสินารา เมื่อเสด็จถึงสาลวโนทยาน ได้บรรทมระหว่างต้นสาละใหญ่ 2 ต้น มีรับสั่งให้พระอานนท์จัดปูลาดให้ ก่อนเข้าสู่สมาธิปัจฉิมฌาน พระอานนท์เถระเจ้าได้ทูลถามถึงวิธีปฏิบัติในพระพุทธสรีระว่าเป็นประการใด
พระพุทธองค์ได้ให้ความกระจ่างแก่พระอานนท์ โดยทรงยกตัวอย่างการปฏิบัติพระศพของพระเจ้าจักรพรรดิราชว่า มีการเชิญพระศพลงในหีบทอง จากนั้นเชิญขึ้นสู่เชิงตะดอนซึ่งทำด้วยไม้จันทน์หอม แล้วจึงถวายพระเพลิง

มณฑารพ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Magnolia lilifera (L.) Baill.
วงศ์ Magnoliaceae
เมื่อพระพุทธองค์กำหนดพระทัยปลงอายุสังขาร พระมหากัสสปะพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวาร 500 รูป ได้เดินทางไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่เมืองกุสินารา ขณะหยุดพักเห็นอาชีวกท่านหนึ่งถือดอกมณฑารพผ่านมาก็บังเกิดความสงสัย เนื่องจากดอกมณฑารพเป็นดอกไม้ทิพย์ มิได้มีอยู่บนโลกมนุษย์ จะปรากฏเฉพาะตอนที่พระพุทธเจ้าเข้าสู่พระครรภ์มารดา ประสูติ ตรัสรู้ กระทำยมกปาฏิหาริย์ เสด็จจากเทวโลก หรือเมื่อทรงปลงอายุสังขาร เทพยดาจึงจะบันดาลให้ดอกมณฑารพตกลงมาจากเทวโลก
พระมหากัสสปะจึงได้ถามอาชีวกท่านนั้นว่า “ดูก่อน ท่านทราบข่าวของพระศาสดาบ้างหรือไม่” อาชีวกตอบว่า “ทราบอยู่ พระสมณโคดมปรินิพพานได้ 7 วันแล้ว ดอกมณฑารพในมือนี้ เราถือมาแต่ที่นั้น”

รกฟ้าขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia arjuna Bedd.
วงศ์ Combretaceae
ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 กล่าวถึงอดีตภพ พระพุทธองค์ทรงเป็นกินนร อาศัยอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา วันหนึ่งได้ทอดพระเนตรเห็นพระสยัมภูพุทธเจ้า ผู้ปราศจากกิเลสธุลี บังเกิดความเลื่อมใส จึงนำเอาดอกรกฟ้าขาวไปบูชาพระสยัมภูพุทธเจ้า

บัวหลวง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nelumbo nucifera Gaertn.
วงศ์ NELUMBONACEAE
ตามพุทธประวัติกล่าวว่าเมื่อพระพุทธองค์ประสูติ ได้พระราชดำเนินไป 7 ก้าว มีอิทธิปาฎิหาริย์ดอกบัวผุดขึ้นมารองรับพระบาท ดังนั้นบัวจึงเป็นพันธุ์ไม้คู่บารมีมากับพระพุทธศาสนาแต่ครั้งพุทธกาล โดยสื่อถึงพระพุทธพลานุภาพที่บริสุทธิ์สูงส่งไม่มีการเปรอะเปื้อนธุลีใดๆ ดังดอกบัวที่แม้จะเกิดในโคลนตม ก็บริสุทธิ์สะอาด จึงใช้เป็นดอกไม้บูชาพระ และเป็นอาสนะของพระผู้มีพระภาคเจ้า
บัวยังเป็นพันธุ์ไม้แห่งการอุปมา ในพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ได้สิ้นสุดการเสวยวิมุตติสุขแล้ว ทรงพิจารณาถึงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ว่าเป็นคุณอันลึกซึ้ง ยากที่บุคคลทั่วไปจะตรัสรู้ตามได้ จึงทรงพิจารณาอุปนิสัยเวไนยสัตว์ด้วยพระปัญญา เปรียบอุปนิสัยมนุษย์เช่นดอกบัว 4 เหล่า คือ 1. บัวที่โผล่พ้นผิวน้ำ พอได้รับแสงแดดก็จะบานทันที 2. ดอกตั้งอยู่เสมอน้ำ รอจะบาน ในวันรุ่งขึ้น 3. ดอกยังอยู่ภายใต้น้ำ พร้อมที่จะบานในวันต่อๆไป และ 4. ยังอยู่ในโคลนตม รอวันเป็นภักษาแห่งปลาและเต่าฉันนั้น